วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การละเล่นพื้นบ้านภาคกลาง

การละเล่นพื้นบ้านภาคกลาง

ว่าว
           อุปกรณ์
ว่าวโดยทั่วไปมีโครงสร้าง ประกอบด้วยไม้ไผ่สีสุกนำมาผ่าแล้วเหลาให้ได้ตามที่ต้องการแล้วนำมาประกอบกัน ให้เป็นรูปทรงต่างๆผูกติดกันด้วยเชือกโยงยึดกันเป็นโครงสร้างและปิดด้วย กระดาษชนิดบางเหนียว เช่น กระดาษสาและตกแต่งลวดลายด้วยจุดหรือดอกดวงเพื่อปิดยึดกระดาษกับเชือกให้แน่น ว่าวที่นิยมกันคือ ว่าวจุฬา     ว่าวปักเป้า     ว่าวหง่าว
ว่าวจุฬาซึ่งมี โครงสร้างประกอบด้วยไม้ไผ่สีสุก 5 ชิ้น มีจำปา 5 ดอกทำด้วยไม้ไผ่ยาว 8 นิ้ว เหลากลมโตประมาณ 3 มิลลิเมตร จำปา 1 ดอกมีจำนวนไม้ 8 อันมัดแน่นกับสายป่านที่ชักว่าวจุฬาอันเป็นอาวุธที่ใช้ต่อสู้กับปักเป้า
ว่าวปักเป้า มีโครงสร้างประกอบด้วยไม้ไผ่สีสุกเหลากลม 2 ชิ้นมีเหนียงเป็นเชือกยาว 8 เมตรผูกปลายทั้งสองข้างให้หย่อนเป็นสายรูปครึ่งวงกลมเพื่อคล้องตัวว่าวจุฬา ให้เสียสมดุลจึงตกลงพื้นดิน
ว่าวหง่าว ทำด้วยโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษสา ลำตัวตอนบนมีรูปคล้ายอกว่าวจุฬามีเอวคอดและท่อนล่างกว่าท่อนบน ตอนส่วนหัวมีไม้ไผ่เหลาและขึงเชือกเหมือนคันธนู ส่วนขึงเชือกนี้จะเกิดเสียงเมื่อต้องลม เสียงนี้ช่วยกำจัดความชั่วร้ายได้
ปัจจุบันว่าวที่มีการเล่นโดยทั่วไปได้มีการ พัฒนารูปแบบการเล่นเพื่อความสวยงาม โดยทำว่าวให้เป็นรูปแบบที่แปลกแตกต่างกันออกไปเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ว่าวงู ว่าวผีเสื้อ ฯ ลฯ


  วิธีการเล่นมีอยู่ 3 วิธี คือ

1.ชักว่าวให้ลอยลมปักอยู่กับที่ เพื่อดูความสวยงามของว่าวรูปทรงต่างๆ
2.บังคับสายชักให้ชักเคลื่อนไหวได้ตามต้องการ นิยมกันที่ความสวยงาม ความสูง และบางทีก็คำนึงถึงความไพเราะของเสียงว่าวอีกด้วย
3.การต่อสู้ทำสงครามกันบนอากาศ คือ การแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้าคว้ากันบนอากาศจะจัดให้มีการแข่งขันที่บริเวณ ท้องสนามหลวงกำหนดแดนขณะทำการแข่งขัน ว่าวปักเป้าจะขึ้นอยู่ในดินแดนของตน ล่อหลอกให้ว่าวจุฬามาโฉบเพื่อจะลากพามายังดินแดนของตนโดยให้ว่าวปักเป้าติด ตรงดอกจำปาที่ติดไว้ เมื่อติดดีแล้วว่าวจุฬาจะรีบลากรอกพามายังดินแดนของตน ขณะเดียวกันว่าวปักเป้าก็จะพยายามใช้เหนียงที่เป็นเชือกป่านคล้อกงตัวว่าว จุฬาให้เสียสมดุล และชักลากดึงให้ตกลงมายังดินแดนของตน ในการเล่นว่าวจุฬาลากพาว่าวปักเป้าเข้ามาทีละตัวหรือหลายตัวก็ได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างนำคู่แข่งขันมาตกยังดินแดนของ ตนเองได้ก็ถือว่าเป็นฝ่ายชนะแต่ถ้าขณะชักลากพามา ว่าวปักเป้าขาดลอยไปได้ถือว่าไม่มีฝ่ายใดได้คะแนน
คุณค่า/แนวคิด/สาระ
การแข่งขันว่าวเป็นกีฬาซึ่งเป็น เอกลักษณ์ของไทย เป็นศิลปะที่ต้องใช้ความสามารถของผู้ทำว่าวและผู้ชักว่าวเป็นอย่างมากต้อง ใช้ความประณีต และความแข็งแรง ข้อสำคัญต้องอาศัยความพร้อมเพรียงด้วย
ชักเย่อ
    อุปกรณ์
1. เชือก  ที่ใช้ดึงต้องยาวอย่างน้อย  33.50  ม. เส้นรอบวงเชือกต้องไม่ต่ำกว่า 10  ซม.   แต่ไม่เกิน 12 – 50  ซม.
2. ตรงกึ่งกลางของเชือกทาสีแดงให้เห็นชัดเจน จากจุดสีแดงนับไปทางซ้าย 4 เมตร ทางขวา 4 เมตร  แล้วทาสีขาวเอาไว้  ฝ่ายใดดึงให้สีขาวของอีกฝ่ายหนึ่งมาถึงจุดเริ่มต้นการแข่งขัน จะเป็นผู้ชนะ
(ตรงจุดสีแดงของเชือกตีเส้นเป็นจุดเริ่มต้นไว้ที่สนาม )
3. ตำแหน่งที่ผู้เล่นใช้มือจับเชือก  ต้องห่างจากจุดสีขาวอย่างน้อย 1 เมตร ดังนั้นตรงจุดที่ห่าง
จากสีขาว 1 เมตร จะต้องทำเครื่องหมายสีน้ำเงินเอาไว้ให้เห็นชัดเจน  ใครจะจับตรงจุดไหนก็ได้
แต่ต้องไม่ใกล้จุดสีขาวน้อยกว่า 1 เมตร
วิธีเล่น
แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่ายฝ่ายละกี่คนก็ได้ ตามแต่จะตกลงกัน เมื่อแบ่งพวกได้แล้วก็ขีดเส้นแบ่งแดน หัวแถว(ถ้าเป็นชายเรียกพ่อหลัก ถ้าเป็นหญิงเรียกแม่หลัก)ของทั้งสองฝ่ายเหยียดแขนจับไม้ยึดแนวขนานกับมือ ทั้งสองมือ ไม้จะนอนขนานกับเส้นแบ่งแดน ลูกน้องของแต่ละฝ่ายเกาะเอวหัวแถวเรียงต่อๆกัน เริ่มเล่นต่างฝ่ายพยายามดึงให้ฝ่ายตรงข้ามหลุดล้ำเข้ามาในแดนตน ฝ่ายใดหลุดล้ำถือเป็นฝ่ายแพ้ เมื่อแพ้ทั้งสองฝ่ายก็จะเริ่มต้นเล่นเพลงระบำกัน พอจบก็เริ่มชักเย่อกันใหม่
 คุณค่า/แนวคิด/สาระ
ในอดีตกิจกรรมที่สามารถเป็นสื่อชักนำให้หนุ่มสาวได้มาพบกันก็คือ งานบุญและการละเล่นหลังทำบุญการเล่นชักเย่อก็เช่นกัน ทำให้หนุ่มสาวได้พบหน้าเกี้ยวพาราสีและสนุกสนานด้วยกัน แต่ปัจจุบันคนหนุ่มสาวมีโอกาสพบกันโดยไม่มีข้อจำกัด
หมากเก็บ
อุปกรณ์
ก้อนหินลักษณะค่อนข้างกลมขนาดเท่าหัวแม่มือ จำนวน 5 เม็ด
วิธีเล่น
ใช้สิ่งสมมติเป็นหมาก 5 ก้อนเริ่มต้นด้วยการทอด คือ การเทปล่อยให้หมากทั้ง 5 กระจาย ไปบนพื้นกระดานถ้าก้อนไหนอยู่ห่างถือเป็นตัวนำและขึ้นต้นด้วยหมากหนึ่ง คือ หยิบนำลูกไว้ต่างหากโยนขึ้นไป แล้วปล่อย 4 ลูกกระจายบนพื้นทีละลูก และรับลูกที่โยนให้ได้ ในขณะเดียวกันถ้าเก็บได้หมดก็ต่อหมาก 2 หมาก3 หมาก4 ต่อไปด้วยวิธีเล่นแบบเดียวกัน แต่ถ้าเก็บลูก 3 ลูกพร้อมกันเรียกว่า หมาก3 แล้วจึงเก็บอีก 1 ลูก ถ้ารวมหมดเรียกว่า หมาก4 และลูกโยนนั้นจะตกไม่ได้ ถ้าตกนับเป็นได้ ต้องให้คนอื่นเล่นต่อไป หมากเก็บนี้มีวิธีเล่นพลิกแพลงหลายอย่าง เช่นการใช้มือซ้ายป้องและเขี่ย หรือเก็บหมากให้เข้าในมือทีละลูกทีละ 2 3 4 ตามลำดับ เรียกว่า “อีกาเข้ารัง” ถ้าเขี่ยไม่เข้าก็นับเป็นตายยังมี “อีกาออกรัง” “รูปู” ซึ่งใช้มือซ้ายรูปต่างๆ ถ้าใช้นิ้วกลางและนิ้วหัวแม่มือยืนพื้น เป็นรูปเหมือนรูปูก็เรียก “รูปู” ผู้เล่นต้องเก็บหมากลงในรูปูหรือเขี่ยออกนอกรังในขณะที่รับลูกโยนให้ได้ พร้อมกัน การละเล่นชนิดนี้ต้องอาศัยการคาดคะเนให้ดี ในขณะโยนลูกว่าควรจะสูงต่ำเพียงใด ในการโปรยลูกว่าถึงกำหนดต้องเก็บอย่างไร จะได้โปรยให้หมากเหล่านั้นอยู่ชิดหรือห่างกันอย่างไร เพราะถ้ามือที่เก็บไปถูกลูกหมากอีกลูกหนึ่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ในแม่ที่กำหนดไว้ก็ถือเป็นตายเหมือนกัน
คุณค่า/แนวคิด/สาระ
1. เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
2. เป็นการฝึกสมาธิ เกิดไหวพริบในการแก้ปัญหา
3. ฝึกน้ำใจเป็นนักกีฬา โดยปราศจากการพนันอันเป็นอบายมุข
4. เป็นการปลูกฝังความรักความสามัคคีในหมู่เด็ก
ในสภาพสังคมปัจจุบัน ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและความเครียดในสังคม การส่งเสริมการเล่นหมากเก็บ อาจเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดช่องว่างในหมู่เด็ก สร้างความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม เป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีให้แก่เด็ก เพื่อเติบโตเป็นสมาชิกที่ดีในสังคมไทยในอนาคต
ตี่จับ
 อุปกรณ์ 
เชือกหรืออะไรก็ได้ที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดน
วิธีการเล่น
การเล่นตี่จับต้องแบ่งผู้ เล่นออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายละเท่าๆกัน มีเส้นแบ่งเขตตรงกลาง ต้องตกลงกันว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายรุกไปก่อน คนหนึ่งที่เป็นฝ่ายรุกจะเริ่มข้ามเขต พอเข้าเขตฝ่ายตรงข้ามก็ต้องร้อง”ตี่”ไม่ให้ขาดเสียง และวิ่งเอามือแตะตัวคนใดคนหนึ่งในฝ่ายรับ แต่จะหยุดหายใจไม่ได้ในขณะร้อง “ตี่” นั้น ฝ่ายรับก็จะพยายามจับคนที่ร้อง “ตี่” ไว้ ถ้าคนร้อง “ตี่” เห็นว่าจะสู้ไม่ได้หรือจะต้องถอนหายใจ ต้องรีบถอยมาให้พ้นเส้นแบ่งเขต ถ้าถอยไม่ทันผู้ร้อง”ตี่” หยุดถอนหายใจก็จะต้องถูกจับตัวไว้เป็นเชลย แต่ถ้าคนที่ร้อง “ตี่” แตะตัวฝ่ายรับได้คนที่ถูกแตะก็เป็นเชลยฝ่ายนี้ ฝ่ายที่ได้เชลยก็จะส่งคนร้อง”ตี่”ไปแตะคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามอีก ถ้ายังจับไม่ได้ก็ผลัดกันรุกคนละครั้ง จนกว่าจะกวาดเชลยได้หมดก็ขึ้นตาใหม่
คุณค่า/แนวคิด/สาระ
การเล่นตี่จับเป็นการฝึกการใช้กำลัง ฝึกความว่องไว และความอดทน นอกเหนือไปจากความสนุกสนานเพลิดเพลิน
ซ่อนหาหรือโป้งแปะ
มีชื่อเรียกต่างกันไปตามท้องที่ เช่น แอสไพ เป็นต้น ในกรุงเทพฯ และชานเมืองส่วนใหญ่จะเรียกว่า ซ่อนหา หรือ โป้งแปะไม่มีอุปกรณ์การเล่น มีกติกา และวิธีการเล่นดังนี้
  กติกา
1. ผู้ที่เป็นคนหาสามารถ โป้ง คนที่ตนเห็นในระยะไกลได้
2. ผู้ที่ถูกพบคนแรกต้องเป็นผู้หาแทน
3. ผู้หาจะต้องหาผู้ซ่อนให้ได้ครบทุกคน
4. หากผู้ซ่อนคนใดที่ผู้หายังหาไม่พบ เข้ามาแตะตัวผู้หาพร้อมกับร้องว่า แปะ ผู้หาต้องเป็นต่ออีกรอบหนึ่ง
5. ต้องกำหนดเขตการซ่อนเพื่อจะหาได้ง่าย
   วิธีการเล่น
หากมีพื้นที่กว้างมากก่อนการเล่นผู้เล่นทั้งหมดอาจตกลงกันก่อนว่า ห้ามซ่อนเกินเขตที่กำหนด ผู้ใดออกไปซ่อนนอกเขตถือว่าผิดกติกาจะต้องเป็นผู้หาแทน เมื่อตกลงได้แล้วถึงดำเนินการเลือกผู้ที่จะเป็นผู้หาคนหนึ่ง ตามวิธีการแบ่งกลุ่มและจัดลำดับการเล่น แล้วจึงเริ่มเล่น ผู้หาต้องปิดตา โดยใช้มือปิดหรือหันหน้าเข้าหาเสา ต้นไม้ ฯลฯ บางครั้งผู้หาอาจนับเลขไปด้วยเพื่อเป็นการให้เวลาแก่ผู้ซ่อน และผู้ที่ไปซ่อนอาจร้องว่า “ปิดตาไม่มิด สาระพิษเข้าตา พ่อแม่ทำนาได้ข้าวเม็ดเดียว” เมื่อคะเนว่าผู้ซ่อนหาที่ซ่อนได้หมดแล้ว จึงถามว่า เอาหรือยังผู้ซ่อนจะตอบว่า เอาละ ผู้หาจึงเปิดตาแล้วออกหาผู้ซ่อนตามจุดต่าง ๆ ที่คาดว่าต้องมีผู้ไปซ่อน เมื่อพบผู้ซ่อนคนใดจะต้องพูดว่า โป้ง… (ชื่อผู้ที่พบ)… ผู้นั้นจะออกมาจากที่ซ่อน ผู้หาต้องหาผู้ซ่อนต่อไปจนครบหมดทุกคนขณะหาถ้ามีผู้ซ่อนคนใดวิ่งเข้ามาแตะตัวผู้หาแล้วร้องว่า แปะผู้หา ต้องเป็นอีกรอบหนึ่ง แต่ถ้าหาผู้ซ่อนได้ครบทุกคน ผู้ถูกพบคนแรกต้องเป็นผู้หาแทน พฤติกรรมเชิงวิเคราะห์
ฝึกให้เป็นคนช่างสังเกต หูไว ตาไว สามารถจับทิศทางของเสียง ที่ได้ยินได้อย่างแม่นยำ
คุณค่า/แนวคิด/สาระ
1. มีความรอบคอบและระมัดระวังตัว มีกลยุทธในการซ่อนตัว
2. รู้จักการประเมินสภาพแวดล้อม และคาดเดาสถานที่ซ่อนตัวของผู้ซ่อน
3. เป็นการฝึกบังคับการเคลื่อนไหวให้เบาที่สุดเพื่อไม่ให้ผู้หาได้ยินหรือหาพบ
4. พัฒนาจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน
มอญซ่อนผ้า
    
       อุปกรณ์
ผ้าเช็ดหน้าขนาดใหญ่หนึ่งผืน ไม่ต้องขมวดหรือพันให้เป็นเกลียว เพราะถ้าฟาดถูกผู้ใดเข้าแล้วจะเจ็บ
วิธีเล่น
ขั้นที่ ๑ ให้ผู้เล่นทั้งหมดจับไม้สั้นไม้ยาว ผู้ที่ได้ไม้สั้นที่สุด ถือผ้าเช็ดหน้าที่เตรียมไว้แล้วออกไปยืนข้างนอก ที่เหลือนอกนั้นนั่งกันเป็นวงกลม หันหน้าเข้าหากัน ในระยะห่างกันประมาณ ๑ ศอก เอามือทั้งสองพาดไว้ที่ตัก คุยกันหรือร้องเพลงก็ได้ เพื่อความรื่นเริง
ขั้นที่ ๒ ให้ผู้ถือผ้าบังตัวไว้มิให้ผู้นั่งเห็นได้ถนัด แล้วเดินหรือวิ่งไปรอบๆ วงต้องทำท่าหรือหน้าตาให้สนิท เดินบ้างวิ่งบ้าง ทำเป็นวางผ้าแต่ไม่วาง เพื่อหลอกล่อผู้ที่นั่งให้เผลอตัวเมื่อเห็นเป็นโอกาสแล้วก็แอบหย่อนผ้าลงไว้ ใกล้หลังผู้นั่งคนใดคนหนึ่ง เมื่อวางผ้าแล้วควรเดินหรือวิ่งให้เร็วต่อไปเพื่อกลับถึงที่เดิมโดยมิให้ผู้ นั้นต้องรู้ตัว
ขั้นที่ ๓ ถ้าผู้ถูกวางผ้าข้างหลังรู้สึกตัวเสียก่อนผู้วางผ้ามาถึง ก็ต้องรีบฉวยผ้าวิ่งมานั่งแทนที่ของตนได้ แล้วจึงเดินหาโอกาสวางผ้าไว้ข้างหลังผู้หนึ่งผู้ใดต่อไป แต่ถ้าถูกวางข้างหลังไม่รู้สึกตัว จนผู้ที่วางวิ่งมาถึงก็หยิบผ้าที่วางนั้นขึ้นฟาดผู้ถูกวางจนกว่าจะลุกขึ้น รับผ้าออกเดิน ผู้วางจึงลงนั่งแทนที่
ข้อระวังในการเล่น ผู้นั่งทุกคนจะหันหน้าไปดูข้างหลังไม่ได้ ถ้าหากสงสัยว่าจะมีผ้าอยู่ข้างหลังตนหรือไม่ก็ให้ใช้มือคลำดูเท่านั้น ผู้ถือต้องวางผ้าลงข้างหลังให้ใกล้ตัวผู้นั่ง จะวางเกินกว่า ๑ ศอกไม่ได้และให้วิ่งหรือเดินต่อไปข้างหน้าจนบรรจบรอบ จะหันหลังเดินย้อนมาไม่ได้
 เพลงประกอบการเล่น
“มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง  ใครเผลอคอยระวัง ใครเผลอคอยระวัง ตุ๊กตาอยู่ข้างหลังระวังจะถูกตี”
  คุณค่า/แนวคิด/สาระ
1. เพื่อหัดให้ผู้เล่นเป็นคนว่องไว
2. เพื่อฝึกให้ผู้เล่นเป็นคนที่มีไหวพริบและรู้จักสังเกตเหตุการณ์ต่างๆ
รีรีข้าวสาร
      วิธีเล่น
1. ผู้เล่น 2 คนยืนหันหน้าเข้าหากันโน้มตัวประสานมือกันเป็นรูปซุ้ม
2. ส่วนผู้อื่นเกาะเอวต่อ ๆ กันตามลำดับ
3. หัวแถวจะพาลอดใต้ซุ้มมือพร้อมกับร้องบทร้องประกอบการเล่น
4. เมื่อร้องถึงประโยคที่ว่า “คอยพานคนข้างหลังไว้” ผู้ที่ประสานมือเป็นซุ้มจะลดมือลงกันคนสุดท้ายไว้ ซึ่งคนสุดท้ายจะถูกคัดออกไปจากแถว แล้วจึงเริ่มต้นเล่นใหม่ทำเช่นนั้นจนหมดคน
      เพลงร้องประกอบ
“รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก
เด็กน้อยตาเหลือก เลือกท้องใบลาน
คดข้าวใส่จาน คอยพานคนข้างหลังไว้”
คุณค่า/แนวคิด/สาระ
1. ออกกำลังกายพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้แข็งแรง
2. เพลิดเพลิน จิตใจร่าเริง แจ่มใส ยอมรับในกฎเกณฑ์กติกาในการเล่น
3. หัดให้เด็กมีไหวพริบ ปฏิภาณ และรู้จักใช้กลยุทธที่จะให้ตนรอดจากการถูกคล้องตัวไว้
4. หัดให้เด็กรู้จักทำงานเป็นกลุ่มโดยหัวแถวต้องพยายามพาแถว โดยเฉพาะคนสุดท้ายให้รอดพ้นจากการถูกกักตัวให้ได้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น